
แม้ฟุตบอลไทยลีก 2020 ใกล้จะกลับมารีสตาร์ตในวันที่ 12 กันยายนนี้แล้ว แต่ยังมีปัญหาคาราคาซังที่ยังไม่ได้บทสรุป คือ งบสนับสนุนสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จำนวน 16 ล้านบาทจาก เมืองไทยประกันภัย
รวดเร็ว ฉับไว ฝาก-ถอนไว 24ชั่วโมง
ก่อนหน้านี้ “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ ในฐานะซีอีโอของ เมืองไทยประกันภัย มีความประสงค์ให้นำเงินส่วนนี้ ซึ่งเดิมทีเป็นงบสนับสนุนฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย แต่เนื่องจากปีนี้ไม่มีโปรแกรมแข่งขันสำหรับทัพ “ชบาแก้ว” ไปเป็นงบสำหรับการใช้งาน “วีเออาร์” (ระบบวิดีโอช่วยการตัดสิน) ในไทยลีก 1 ซึ่งแต่ละนัดมีค่าใช้จ่ายราว 82,000 บาท
อย่างไรก็ตาม สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ บอกว่าไม่สามารถนำ 16 ล้านบาทของฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยมาใช้กับ วีเออาร์ ได้ เนื่องจาก “มาดามแป้ง” ยังควบตำแหน่งประธานสโมสรการท่าเรือ เอฟซี ซึ่งก็ร่วมฟาดแข้งในไทยลีก 1
สมาคมฯ จึงชี้แจงว่ายังมีส่วนได้ส่วนเสียกับการแข่งขัน อีกทั้ง เมืองไทยประกันภัย ยังเป็นผู้สนับสนุนของหลายสโมสรในไทยลีกด้วย ทำให้อาจมีคำถามตามมาจาก สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (AFC) รวมถึง คณะกรรมการสมาคมฟุตบอลระหว่างประเทศ (IFAB) ซึ่งเป็นองค์กรที่รับรองให้มีการนำ วีเออาร์ มาใช้ในเกมลูกหนัง
จากนั้น พล.ต.อ. ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ก็ออกมายืนยันว่า การแข่งขันไทยลีก 1 ฤดูกาล 2020 ที่กำลังจะกลับมารีสตาร์ต สมาคมฯ จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดหา วีเออาร์ มาให้ใช้งานในทุกๆ แมตช์เอง เพื่อความโปร่งใสในการตัดสิน
เมื่อจบประเด็น วีเออาร์ แต่ปัญหายังไม่จบ เพราะเงิน 16 ล้านบาทของฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยสำหรับปีนี้ ยังไม่รู้ว่าจะนำไปใช้ในส่วนไหน “มาดามแป้ง” จึงส่งหนังสือเปิดผนึกในนาม เมืองไทยประกันภัย ถึง สมาคมฯ อีกครั้ง เพื่อขอให้จัดสรรเงินดังกล่าวให้แก่สโมสรสมาชิกในไทยลีก 3 อย่างทั่วถึงทั้ง 72 ทีม โดยไม่มีเงื่อนไข
หากแบ่งเท่าๆ กัน สโมสรในไทยลีก 3 จะได้รับทีมละประมาณ 222,222 บาท ซึ่ง “มาดามแป้ง” ก็ไม่อยากให้ 16 ล้านบาทที่บริษัทของตัวเองมอบให้เป็นงบสนับสนุนสมาคมฯ ต้องสูญเปล่า จึงอยากให้นำไปใช้เพื่อเยียวยาความเดือดร้อนจากโควิด-19 ของทีมระดับรากหญ้า อันจะเป็นการช่วยรากฐานฟุตบอลไทยอย่างแท้จริง
แต่หากสมาคมฯ พิจารณาว่าจะไม่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่ระบุมานี้ ในหนังสือเปิดผนึกก็ได้ทิ้งท้ายว่า “ขอให้แจ้งกลับต่อบริษัทฯ”
สโมสรสมาชิกที่สนใจ สามารถยื่นเอกสารได้ที่ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ การกีฬาแห่งประเทศไทย (อาคาร 2) หากทีมใดยื่นเอกสารครบถ้วนและผ่านการพิจารณา สามารถรับเช็คได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 และหมดเขตในวันที่ 15 กันยายน 2563
ทำให้ ณ ตอนนี้ เงิน 16 ล้านบาทเจ้าปัญหาก็ยังหาที่ลงไม่ได้ และสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ก็ยังไม่ตอบรับความประสงค์จาก เมืองไทยประกันภัย
ซึ่งล่าสุด “บิ๊กอ๊อด” ออกมาบอกว่า เรื่องนี้จะต้องมีการพูดคุยกันภายในว่าการนำเงินสำหรับฟุตบอลทีมชาติไปใช้สโมสรฟุตบอลอาชีพนั้นมีเงื่อนไขหรือข้อบังคับอะไรบ้าง แต่สมาคมฯ ยืนยันว่าต้องการใช้เงินที่ได้รับการสนับสนุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และตรงกับความประสงค์ของผู้สนับสนุนให้มากที่สุด
อีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ข้างหน้า ฟุตบอลไทยก็กำลังจะกลับมาแข่งขันกันอีกครั้ง ดังนั้น เราจึงได้แต่หวังว่าเรื่องเงิน 16 ล้านบาทอลวน คงจะได้คำตอบหรือปลายทางที่ชัดเจนโดยเร็ว
เพราะทุกวันนี้ ทีมในไทยลีก 3 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทีมระดับภูมิภาคก็เจ็บหนักกับวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้บรรดาสปอนเซอร์ถอนตัว หรือลดจำนวนเงินสนับสนุนกันมามากพอแล้ว